Reverse Culture Shock จะทำอย่างไรเมื่อรู้สึกว่า บ้าน ไม่ใช่ที่ของเรา

0
12505
Reverse Culture Shock

Reverse Culture Shock คือ การที่รู้สึกว่าไม่สามารถมีความสุขกับการใช้ชีวิตในบ้านเกิดเมืองนอนของตัวเองได้ รวมไปถึงภาวะการปรับตัวให้เข้ากับสังคมแบบเดิมที่ทำให้เกิดความเครียด และความอึดอัดขึ้นในจิตใจ เพราะการไปใข้ชีวิตอยู่ต่างประเทศนานๆ อาจทำให้เราเคยชินกับความสะดวกสบาย ความปลอดภัยตามที่ประเทศนั้นให้มา ทำให้เราใช้ชีวิตได้อย่างไม่น่ากลัว ไปไหนมาไหนคนเดียวก็ทำได้ จะกลับบ้านดึกๆก็ไม่เป็นปัญหา การเดินทางคมนาคมต่างๆก็เชื่อมถึงกันหมด ทุกอย่างดูลื่นไหลไปหมด

แต่แล้ววันนึง เมื่อถึงคราวที่ต้องกลับบ้าน หมดเวลาสนุกในสภาพแวดล้อมและสังคมใหม่ๆนั้น แล้วก็เป็นเรื่องที่ตลกไม่ออก เมื่อเราต้องพยายามปรับตัวให้เข้ากับสังคมเดิม คุณภาพชีวิตแบบเดิมๆ ปัญหาเดิมๆอีกครั้ง จึงทำให้เกิดภาวะที่เหมือนกับการสูญเสียความเป็นตัวเองไป รู้สึกว่าไม่มีพื้นที่ไหนที่ใช่สำหรับเราเลย ซึ่งมีผลกระทบทั้งทางด้านร่างกาย จิตใจและอารมณ์

ลักษณะของอาการ Reverse Culture Shock

  • หงุดหงิดกับสภาพแวดล้อม อย่างเช่นการจราจร ที่ดูจะเป็นปัญหาใหญ่สำหรับชาวกรุงอย่างเรา และไม่ว่าจะพยายามหาทางแก้ไขหรือหนีอย่างไรก็ไม่มีวันหลุดพ้นสิ่งเหล่านี้ไปได้
  • รู้สึกงงและติดขัดกับการเดินทาง อย่างเช่นว่า ทำไมรถไฟฟ้าถึงยังสร้างไม่เสร็จ และไม่เชื่อมกับบ้านเรา หรือแม้กระทั่งว่าทำไมเราต้องขึ้นรถเมล์ ต่อรถไฟฟ้า นั่งรถมอเตอร์ไซค์ เพื่อไปให้ถึงที่ทำงานด้วยนะ เกิดการเปรียบเทียบขึ้นในจิตใจว่าทำไมการคมนาคมพื้นฐานของประเทศเราถึงยังดีแบบประเทศอื่นเค้าไม่ได้
  • รู้สึกหดหู่และเครียด เกิดความคิดขึ้นมาว่าทำไมถึงไม่มีที่ไหนที่เป็นของเรา ที่อเมริกาก็อยู่ต่อไม่ได้ ส่วนที่เมืองไทยก็รู้สึกว่ายังไม่ใช่ แล้วที่ไหนล่ะจะเป็นที่ที่เราสามารถใช้ชีวิตอยู่ได้อย่างแท้จริง คงได้แต่หวังลมๆแล้งๆว่าสักวันนึง เมืองไทยคงดีกว่านี้แน่ๆ
  • รู้สึกว่าเรากลายเป็นคนธรรมดา ทั้งๆที่เราคิดว่าเราก็เก่งพอตัวอยู่นะ อุตส่าห์เอาตัวรอดในต่างแดนมาได้ตั้งนาน ได้ไปทำอะไรที่ท้าทายมาตั้งเยอะ ได้เห็นโลกกว้าง แต่กลับนำมันมาใช้ประโยชน์อะไรไม่ได้เลย
  • รู้สึกกลัวว่าความทรงจำดีๆเหล่านั้น จะหายไปจนเหมือนกับว่ามันไม่เคยเกิดขึ้น ทั้งๆที่ทุกอย่างมันคือเรื่องที่เกิดขึ้นจริง
  • รู้สึกแปลกแยก ไม่มีใครเข้าใจในสิ่งที่เราเป็น ไม่มีใครอยากฟังเรื่องราวของเราทั้งๆที่มันสนุกและน่าตื่นเต้นจะตายไป ไม่รู้ว่าควรเล่าให้ใครฟังดี อยากมีคนที่เข้าใจเราจริงๆ
  • รู้สึกกลัวคนในสังคม อย่างเช่น การออกไปไหนดึกๆก็กลัวว่าจะมีอันตราย ยิ่งเห็นข่าวต่างๆยิ่งทำให้รู้สึกไม่ปลอดภัย เหมือนชีวิตแขวนอยู่บนเส้นด้ายตลอดเวลา แล้วก็ได้แต่คิดว่าเรากลับมาทำไมกันเนี่ย ทำไมถึงอยู่ยากจัง
  • รู้สึกเบื่อ เพราะทุกอย่างเหมือนเดิมไปหมด ไม่มีอะไรน่าตื่นเต้น ไม่มีเรื่องใหม่ๆให้เราได้เรียนรู้

ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากอาการเหล่านี้อาจไม่ได้เป็นแค่ที่เราคนเดียว ส่วนใหญ่แล้วจะกระเทือนไปถึงคนรอบข้าง หรือคนใกล้ตัวด้วย อย่างเช่น พ่อ แม่ พี่ น้อง ซึ่งอาการทั้งหมดทั้งมวลที่เป็นจะทำให้เราเครียดมากๆจนต้องหาทางระบายด้วยการแสดงอาการก้าวร้าวรุนแรง โมโห และเอาความผิดพลาดที่เกิดขึ้นไปลงที่คนอื่น เพราะมันทำให้เรารู้สึกสบายใจขึ้น ถึงแม้จะช่วยได้เพียงเล็กน้อยเท่านั้น แต่ถ้ายังฝืนเป็นแบบนี้ต่อไปไม่ยอมหาสาเหตุและไม่ปรับตัวก็คงทำให้คนใกล้ตัวเรานั้นเสียใจอย่างไม่มีที่สิ้นสุด

วิธีการปรับตัวให้เข้ากับสังคมและเมืองไทยอีกครั้ง

  • ยอมรับความจริง อย่างเช่น เรื่องสภาพแวดล้อม การเดินทางคงต้องทำใจจริงๆ ว่ามันแก้ไขอะไรไม่ได้ ส่วนที่เราพอจะปรับได้ก็คือการย้ายที่พักไปอยู่ใกล้ที่ทำงานมากขึ้นเพื่อลดภาวะความเครียดจาการเดินทางลง ส่วนเรื่องพฤติกรรมของคนในสังคมบางอย่างที่เราไม่ชอบหรือรู้สึกขัดใจ ก็ควรจะปล่อยวางลงบ้าง ไม่ต้องเก็บมาคิดเยอะหรือเปรียบเทียบอะไรให้มันวุ่นวาย
  • ออกเดินทางไปต่างประเทศบ้างเมื่อมีโอกาส อย่างเช่น สิงคโปร์ ฮ่องกง เป็นต้น ประเทศที่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นหลัก จะทำให้เราค่อยๆรู้สึกว่าความสามารถ ทักษะที่เคยมีมันไม่ได้หายไปไหน และความตื่นเต้นจากการได้ออกเดินทางก็ช่วยเพิ่มพลังงานบวกๆให้กับชีวิต
  • เลือกทำงานที่ได้ใช้ภาษาอังกฤษ ช่วงที่เพิ่งกลับมาอยู่เมืองไทยจะทำให้เรารู้สึกงงๆ ไม่รู้ว่าจะไปทางไหน เอางัยกับชีวิตดี ซึ่งบางครั้งเราก็รู้สึกว่าเราไม่ได้มีคุณค่าอะไรเพิ่มขึ้นเลย เป็นคนธรรมดาเหมือนเดิม ใช้ชีวิตเดิมๆ ทั้งๆที่เรารู้อยู่แก่ใจว่าเราทำอะไรได้มากกว่านี้ เราเลยอยากแนะนำเพื่อนๆว่าให้ไปทำงานในบริษัทที่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นหลักจะดีกว่า เพราะมันทำให้เรายังได้รู้สึกเชื่อมโยงกับประสบการณ์ที่ได้ไปอยู่ในอเมริกา
  • ไปงานสัมนาต่างๆที่จัดโดยชาวต่างชาติ งานพวกนี้จะทำให้เราได้พบเจอเพื่อนใหม่ๆจากนานาชาติ ได้แลกเปลี่ยนความเห็นกัน ทำให้เรามีมุมมองดีๆกับประเทศของตัวเอง ความรู้สึกเหมือนกับที่เราเคยไปเรียนในโรงเรียนภาษาเลย สนุกไปอีกแบบและอาจจะทำให้พบโอกาสใหม่ๆในชีวิตก็ได้นะ
  • สร้างบล็อก ทำยูทูป แชร์เรื่องราวของตัวเองที่ได้ไปใช้ชีวิตสนุกๆมา เราเศร้ามากๆในช่วงที่เพิ่งกลับมาบ้านใหม่ๆ แล้วก็คิดว่าถ้าเอามาเล่าให้เพื่อนหรือคนที่บ้านฟังทุกวันเค้าคงเบื่อแล้วก็รำคาญเราแน่ๆ เราก็เลยเลือกสร้างเว็บบล็อกขึ้นมาเองซะเลย มีรูปและสตอรี่อยู่เต็มมือถืออยู่แล้ว ที่เหลือก็แค่เอามาเล่าและเรียบเรียงให้สวยงาม
  • หาเพื่อนที่เคยมีประสบการณ์ในต่างประเทศ เอาไว้พูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน จะทำให้รู้สึกว่าเราไม่ได้แปลกแยก เราไม่ได้แตกต่าง ยังมีเพื่อนที่เข้าใจและคิดเหมือนเราอยู่นะ
  • อ่านพันทิป ลองพิมพ์คำว่า Reverse Culture Shock pantip เข้าไปเดี๋ยวก็เจอค่ะ แล้วเราจะเข้าใจอะไรๆเพิ่มมากขึ้นอีกเยอะเลย ทำให้เห็นว่าเราไม่ได้มีอาการแบบนี้อยู่คนเดียวหรือคิดไปเอง แล้วก็ยังได้เห็นว่าคนที่เคยเป็นเค้ามีวิธีแก้ไขปัญหาอย่างไรกันบ้าง ช่วยให้เราได้เห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์อยู่รำไรได้ค่ะ
  • ไปพบจิตแพทย์ ถ้าหากว่าเราเป็นเยอะจนถึงขั้นกินไม่ได้ นอนไม่หลับ หรือมีปัญหากระทบกระเทือนทางร่างกาย ทางที่ดีควรไปพบแพทย์แต่เนิ่นๆ คุณหมอจะรับฟังอาการทุกอย่างที่เราเป็นและช่วยเราไม่ให้ป่วยมากไปกว่านี้
  • ปรับเปลี่ยนทัศนคติตัวเองซะใหม่ ให้เห็นว่าประเทศไทยเองก็มีดีไม่แพ้ใครเหมือนกัน เป็นประเทศที่คนทั้งโลกอยากจะมาเยี่ยมเยือน บางคนถึงขั้นว่าอยากเปลี่ยนมาใช้ชีวิตที่เหลือที่นี่เลยก็มีนะ ค่าครองชีพก็ถูก แถมยังเป็นบ้านของเราเองด้วย และมันจะดียิ่งขึ้นไปอีกถ้าเราไม่ได้เอาแต่บ่น แต่นำเอาความรู้ประสบการณ์ดีๆที่เราได้เจอ มาช่วยพัฒนาประเทศไทยให้ดีขึ้นด้วยหนึ่งสมองและสองมือของเราเองเนี่ยล่ะ เราเชื่อว่าเพื่อนๆทำได้

ทั้งหมดนี้เป็นวิธีที่เราลองมาแล้วและพบว่ามันช่วยได้เยอะจริงๆ เหมือนกับว่าเรากำลังสร้างพื้นที่ตรงกลางให้กับชีวิตของเราเอง ซึ่งมันก็ใช้เวลาพอดูเลยล่ะกว่าที่อะไรๆในชีวิตมันจะดีขึ้น

สรุป

Reverse Culture Shock เป็นภาวะหนึ่งที่เกิดขึ้นได้กับทุกคนที่ได้ไปใช้ชีวิตในต่างประเทศ จะมากจะน้อยก็ขึ้นอยู่กับมุมมองความคิดของแต่ละคน ซึ่งเราคิดว่าอาการเหล่านี้สามารถดีขึ้นได้ ถ้าเราค่อยๆปรับเปลี่ยนมัน แก้ไขไปทีละส่วน หาทางออกที่โอเคที่สุดให้กับตัวเอง มันอาจจะใช้เวลาซักพักในการปรับตัวให้เข้ากับสังคมไทยได้เหมือนเดิม บางคนอาจใช้เวลาหลายอาทิตย์ บางคนก็อาจจะใช้เวลานานหลายเดือน แต่สุดท้ายมันคือการหาพื้นที่ตรงกลางให้ตัวเอง ที่ที่เราอยู่แล้วสบายใจและเชื่อว่าทุกอย่างที่เกิดขึ้นนั้นดีเสมอ ถือเป็นการเริ่มต้นชีวิตบทใหม่ให้กับตัวเองอีกครั้ง

ถ้าใครยังมีคำถามเกี่ยวกับเรื่องนี้อยู่ ลองมาดูที่นี่เลยค่ะ เป็นบทความจากกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐอเมริกา ที่เค้าอธิบายถึงเรื่องนี้ไว้อย่างละเอียด หมายความว่าเรื่องนี้ไม่ได้เป็นปัญหากับแค่เฉพาะคนไทยเท่านั้น แต่สำหรับชาวต่างชาติก็เป็นกันค่ะ

ปล. ทุกวันนี้เราก็ยังคิดถึงช่วงเวลาดีๆเหล่านั้นในอเมริกาอยู่นะ ถ้ามีเวลาและโอกาสก็คงได้เจอกันแน่ๆ

ใครมีปัญหานี้อยู่ก็ทักทายกันเข้ามาได้ที่แฟนเพจเลยนะคะ ยินดีรับฟังเต็มที่ค่ะ